Wednesday, February 10, 2016
ประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-อาเซียน ส่งสัญญาณใดถึงจีน?
“ประธานาธิบดีสหรัฐแห่งแปซิฟิค” โอบามา เร่งกระชับสัมพันธ์กับผู้นำอาเซียนในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ คานสมดุลอำนาจกับประเทศจีน
ปี 2552 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยกล่าวไว้อย่างขึงขังว่าเขาคือ “ประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกแห่งแปซิฟิค” ในระหว่างการเยือนสี่ประเทศในเอเชีย คือญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และเกาหลีใต้ ความหมายโดยนัยยะสำคัญต่อจุดยืนของสหรัฐในระดับภูมิภาค ที่นอกจากจะส่งสารถึงผู้นำในเอเชียว่า “สหรัฐกลับมาแล้ว” หลังจากห่างหายจากภูมิภาคไปในยุคของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์ ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันตั้งใจส่งสัญญาณถึงจีนโดยตรงว่าสหรัฐไม่ละบทบาทความเป็นผู้นำในเอเชียแปซิฟิค ซึ่งตามมาด้วยการประกาศ “Pivot to Asia” หรือนโยบายสร้างสมดุลใหม่ในเอเชีย
เมื่อมองไปข้างหน้า บารัก โอบามา เหลือเวลาทำงานในฐานะผู้นำสหรัฐถึงปลายปี 2559 ก่อนที่จะต้องส่งมอบตำแหน่งให้กับผู้นำคนใหม่ และดูเหมือนมีหลายเรื่องที่พยายามผลักดันที่เกี่ยวข้องกับแปซิฟิค เพื่อให้สมกับที่เคยเอ่ยว่าเป็นประธานาธิบดีแห่งภูมิภาคนี้
นอกจากเรื่องข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค ที่ขับเคลื่อนจน 12 ประเทศสมาชิกลงนามไปแล้ว โอบามากำลังจะหารือกับบรรดาผู้นำ 10 ประเทศในอาเซียนในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้ ที่ Sunnylands รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นคำเชิญที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2558 และกำลังจะนำไปสู่การหารือท่ามกลางบรรยากาศสบายๆแห่งขุนเขา และอาจจะได้เห็นภาพผู้นำเดินคุยกัน ไม่ผูกเนคไท อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนที่เชิญ สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ไปหารือ ณ ที่เดียวกัน เมื่อเดือนกรกฎกาคม ปี 2556 ต่างกันก็แต่ครั้งนี้ไม่มีผู้นำจีน แต่จะคุยกันเรื่องจีน
วาระการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-อาเซียน ที่จะจัดขึ้นที่ Sunnylands เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การเมือง ความมั่นคง และความร่วมมือระดับภาคประชาชน
ถ้าดูรายละเอียดของแต่ละประเทศอาเซียนมีความแตกต่างกันอย่างมาก และวาระหลากหลาย สิงคโปร์ มีแนวทางเดินตามตลาดเสรี ขณะที่อินโดนีเซียระมัดระวังและปกป้องตลาดภายใน กัมพูชาและลาวเป็นที่รับรู้ว่าใกล้ชิดกับประเทศจีน ขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามพยายามที่จะใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้นสืบเนื่องจากเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ ขณะที่ประเทศไทยถูกจับตามองเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับหลายประเทศในอาเซียน
สหรัฐไม่ได้ระบุว่าวาระการหารือนี้เกี่ยวข้องกับประเทศจีนโดยตรง เพียงแต่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การประชุมที่จะมีขึ้นเพื่อความก้าวหน้าของนโยบายสร้างสมดุลใหม่ในเอเชียและแปซิฟิค ทั้งสหรัฐและอาเซียนทำงานร่วมกันมากว่า 40 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน และหวังว่าการประชุมนี้จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ของสองฝ่าย
ในการหารือกันครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเชิญผู้สื่อข่าวจาก 10 ประเทศอาเซียน ร่วมรายงานการประชุมในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ และจะพาไปศึกษาแหล่งที่มาของนโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐในระดับภูมิภาค ดิฉันได้รับโอกาสสำคัญเพื่อร่วมติดตามทำข่าวและรายงานการประชุมครั้งนี้ โดยภารกิจเริ่มต้นที่ โฮโนลูลู รัฐฮาวาย เพื่อไปเยือนศูนย์บัญชาการสหรัฐแห่งแปซิฟิค (USPACOM) ที่ดูแลน่านน้ำทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ครอบคลุมอินเดีย แอนตาร์กติกา ไปถึงขั้วโลกเหนือ โดยย้ำว่าเอเชีย แปซิฟิค มี 36 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประชากรครึ่งหนึ่งของโลก และมีฐานะทัพใหญ่ๆของโลกหลายแห่ง โดยห้าประเทศเป็นพันธมิตรกับสหรัฐผ่านข้อตกลงด้านกลาโหม ฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชีย อาเซียน เอเปค ผู้รู้เรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ ไปดูฐานทัพเพิร์ล ฮาร์เบอร์ จากนั้นติดตามการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-อาเซียน ที่ Sunnylands 15-16 ก.พ. และการประชุมสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน 17 ก.พ. น่าติดตามการหารือชุดใหญ่ว่าจะมีนักธุรกิจกลุ่มใดของสหรัฐมาร่วมตั้งวงคุยกันกับภาคเอกชนแห่งอาเซียน
ในภาพรวมเรื่องของวาระที่จะหารือและท่าทีของผู้นำอาเซียนที่จะคุยกับผู้นำสหรัฐจึ่งน่าจับตามองอย่างยิ่งยวด อาเซียนปฏิเสธไม่ได้ถึงความสำคัญและบทบาทที่มากขึ้นของประเทศจีน ขณะที่การเลือกตั้งสหรัฐจะมีผู้นำคนใหม่จะเป็นใคร และจะวางทิศทางกับเอเชียไปในทิศทางใดล้วนต้องติดตาม โดยเฉพาะในยุคนี้ที่โจทย์ความมั่นคงและการก่อการร้ายจากกลุ่มไอเอส ทวีความซับซ้อนมากขึ้น
ขณะนี้ดิฉันอยู่ที่ฮาวายแล้ว และจะติดตามความเคลื่อนไหวในครั้งนี้มารายงานต่อค่ะ
ฮาวาย คือรัฐที่ 50 ของสหรัฐ เป็นรัฐน้องใหม่ที่สุด ชื่อเล่นคือ อโลฮา หรือรัฐอโลฮา เมืองหลวงของรัฐนี้คือโฮโนลูลู มีประชากรรวมประมาณ 1.4 ล้านคน คำเรียกคนฮาวายคือ “ฮาวายเอี้ยน” ที่นี่เป็นรัฐเพียงรัฐเดียวของประเทศสหรัฐที่ตั้งอยู่ที่ Oceania เป็นรัฐเดียวของสหรัฐที่มีสภาพเป็นเกาะ และเป็นรัฐเดียวที่ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ทวีปอเมริกา มาช่วงนี้คนที่นี่บอกว่าหนาวที่สุดแล้วในรอบปี อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 29 องศาเซลเซียส
ด้วยความที่ตั้งอยู่ตรงบริเวณใจกลางฝั่งแปซิฟิคและเป็นยุคของการโยกย้ายเพื่อการทำงานในศตวรรษที่ 19 ทำให้วัฒนธรรมของฮาวาย ได้รับอิทธิพลจากอเมริกาเหนือและเอเชีย เพิ่มเติมจากคนท้องถิ่นฮาวายดั้งเดิม
ฮาวาย ได้รับความนิยมเป็นที่พูดถึงในช่วงหลังเมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามา ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัวที่นี่ และฮาวายคือสถานที่เกิดของประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2504 ที่เมืองโฮโนลูลู โดยแม่เป็นคนจากรัฐแคนซัส และพ่อจากเคยยา (แต่มีบางทฤษฎีแย้งว่าโอบามาเกิดที่เคนยา)
ต้องติดตามว่าเรื่องที่ “ท่านประธานาธิบดีสหรัฐแห่งแปซิฟิค” จะตอกย้ำก่อนอำลาวาระคืออะไร
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment